วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

ครูในดวงใจ


ครูในดวงใจ
๑๖ มกราคม “ร่วมรำลึกถึงพระคุณของครู..ผู้ให้แสงสว่างแก่เด็ก”

แม้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีจะก้าวไกล มีสื่อการเรียนการสอนที่ไร้พรมแดน เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้จากอินเตอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เด็กรับรู้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่จะถูกเสมอไป เพราะในโลกของการสื่อสารยังมีสื่อที่ไม่สร้างสรรค์อีกเป็นจำนวนมากที่เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีและไม่ดี

ครู จึงถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทและมีความสำคัญมากที่สุดในกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ให้สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีและไม่ดี ตลอดจนให้ความรู้และคอยอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์เติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากฝากลูกไว้กับครูที่ดี เก่ง และไว้ใจได้

เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและให้ความสำคัญกับครู ในฐานะบุคคลที่สร้างอนาคตของชาติ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปี เป็น วันครู และจัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่ระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการที่เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล โดยให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา มีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู การออกข้อบังคับหน้าที่ วินัย และจรรยาบรรณของครู รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ และส่งเสริมฐานะให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการกำหนดนโยบายทางการศึกษาและวิชาการศึกษาให้แก่กระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย

 ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และยังได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ โดยมีข้อความตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า “เนื่องจากครูเป็นผู้มีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่า สำหรับคนทั่วไปถ้า วันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลงปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

 จากแนวคิดประกอบกับความเห็นของครูที่แสดงออกกับสื่อมวลชนที่เรียกร้องให้มีวันครู เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน จึงได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ และได้มีมติเห็นชอบให้มีวันครู เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ตลอดจนการส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ ให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็น วันครู โดยให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้นักเรียนและครูได้หยุดในวันดังกล่าว

นอกจากนี้ยังได้กำหนด จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ดังนี้

๑. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

๒. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

๓. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

๔. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

๕. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

๖. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

๗. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

๘. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

๙. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

๑๐. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

เห็นได้ว่า ครูเปรียบเสมือนแสงสว่างที่คอยนำทางให้เด็กได้ก้าวเดินไปในทางที่ถูกต้อง โดยการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ พร้อมทั้งอบรมบ่มนิสัยให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต เนื่องในวันครู ๑๖ มกราคม ที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน หรือลูกศิษย์ทั้งหลายได้รำลึกถึงพระคุณของครู ด้วยการกลับไปเยี่ยมเยียนท่าน หรือส่งบัตรอวยพรให้แก่ท่าน พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีต่อสังคม ให้เหมือนกับที่ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่เรา จนเราสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประกอบอาชีพที่สุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น